ชุดไทยพระราชนิยม ประเภทของชุดไทย และความหมายของชุดไทยประยุกต์
การสวมใส่ชุดไทยเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของคนไทย เพราะนอกจากรูปแบบของชุดไทยจะมีความหลากหลาย การออกแบบตัดเย็บและผ้าที่นำมาตัดเย็บยังเป็นภูมิปัญญาในการถักทอผ้าของคนโบราณที่มีการอนุรักษ์และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ชุดไทยและชุดไทยประยุกต์นิยมสวมใส่ในงานราชพิธี งานพิธีรวมทั้งงานมงคลต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน งานทำบุญบ้าน งานบวชนาค และงานทำบุญตักบาตรทั่วไป
ชุดไทยพระราชนิยม และประเภทของชุดไทย
ชุดไทย เป็นชุดประจำชาติที่สวยงาม มีการออกแบบและการตัดเย็บที่ประณีต บวกกับการสร้างสรรค์ลวดลายบนผืนผ้าที่เกิดจากงานฝีมือของช่างไทย ทำให้ชุดไทยเป็นชุดประจำชาติที่มีความโดดเด่น สามารถแสดงออกถึงเอกลักษณ์วัฒนธรรม ประเพณีของความเป็นไทยไว้อย่างชัดเจน ชุดไทยพระราชนิยมแบ่งออกเป็น 8 ประเภท โดยแต่ละประเภทมีความสวยงามและนิยมสวมใสในงานพิธีหรือในวาระโอกาสต่าง ๆ เช่น
- ชุดไทยเรือนต้น
ชุดไทยแบบลำลอง ลักษณะผ้าถุงเป็นผ้าไหมซิ่นป้ายหน้า ตัวเสื้อผ่าหน้าและติดกระดุม คอเสื้อจะ
เป็นคอกลมไม่มีขอบ แขนเสื้อเป็นแขนสามส่วน เสื้อคนละท่อนกับซิ่นผ้าที่ใช้ตัดเย็บอาจใช้ผ้าสีตามริ้วซิ่นหรือเชิงซิ่น สีจะตัดกับซิ่นหรือสีเดียวกันก็ได้
- ชุดไทยจิตรลดา
ชุดไทยจิตรลดา ตัดเย็บด้วยผ้าไหมเกลี้ยงมีเชิงหรือยกดอกทั้งตัว ผ้าซิ่นยาวป้ายหน้าคนละท่อนกับ
ตัวเสื้อ ลักษณะตัวเสื้อผ่าหน้าและติดกระดุม คอเสื้อเป็นคอกลมขอบตั้งเล็กน้อย แขนเสื้อเป็นแขนยาว
- ชุดไทยอมรินทร์
ชุดไทยอมรินทร์ ลักษณะตัวเสื้อด้านหน้าเป็นแบบผ่าหน้าและติดกระดุม คอเสื้อเป็นคอกลมไม่มี
ขอบ แขนเสื้อเป็นแขนยาวหรือแขนสามส่วน ผ้าถุงเป็นซิ่นไหมป้ายหน้า แบบเหมือนไทยจิตรลดา ต่างกันที่ใช้ผ้าและเครื่องประดับหรูหรากว่า ใช้ผ้าไหมยกดอกที่มีทองแกมหรือยกทองทั้งตัว
- ชุดไทยบรมพิมาน
ชุดไทยบรมพิมาน ตัวเสื้อแขนยาว คอกลม มีขอบตั้ง ผ่าด้านหน้า หรือด้านหลังก็ได้ ตัดเย็บด้วยผ้า
ไหมหรือยกทอง มีเชิงหรือยกทั้งตัวก็ได้ เป็นชุดติดกัน ซิ่นมีจีบยกข้างหน้ายาวจรดข้อเท้า ที่ชายพก ใช้เข็มขัดไทยคาด
- ชุดไทยจักรี
ชุดไทยจักรีเป็นชุดไทยห่มสไบ ลักษณะตัวเสื้อด้านหน้าผ่าหลัง คอเสื้อเป็นแบบคอกลม ตัวเสื้อไม่มี
แขน ลักษณะผ้าถุงคือมีหน้านางและชายพก ใช้ผ้ายกมีเชิงหรือยกทั้งตัวคาดเข็มขัดไทย ท่อนบนเป็นสไบ จะเย็บติดกับซิ่นหรือท่อนเดียวกัน หรือจะมีสไบห่มต่างหากก็ได้เปิดบ่าข้างหนึ่ง ชายสไบคลุมทิ้งชายด้านหลังยาวตามเห็นสมควร
- ชุดไทยจักรพรรดิ
ชุดไทยจักรพรรดิ ลักษณะตัวเสื้อด้านหน้าเป็นทรงรัดรูป เกาะอก คอเสื้อไม่มี แขนเสื้อเป็นแบบไม่มี
แขน ใช้ซิ่นไหมหรือยกทอง เอวจีบมีหน้านางและชายพก ห่มแพรจีบแบบไทยเป็นชั้นที่หนึ่งก่อนแล้วจึงใช้สไบปักอย่างสตรีบรรณาศักดิ์สมัยโบราณ ห่มทับแพรจีบอีกชั้นหนึ่ง ใช้เข็มขัดไทยคาด
- ชุดไทยดุสิต
ชุดไทยดุสิตลักษณะตัวเสื้อเป็นแบบไม่มีแขน คอด้านหน้า-หลัง คว้านกว้างผ่าหลังและปักเป็น
ลวดลายสวยงาม ลักษณะผ้าถุงหรือซิ่นใช้ผ้ายกไหมหรือยกทอง จีบหน้า มีชายพก จีบเอว ใช้เข็มขัดไทยคาด
- ชุดไทยศิวาลัย
ชุดไทยศิวาลัยใช้ซิ่นไหมหรือยกทองมีชายพก เสื้อตัดแบบแขนยาว ผ่าหลัง เย็บติดกับผ้าซิ่นคล้าย
ไทบรมพิมาน แต่ห่มปักลายไทยอย่างแบบไทยจักรพรรดิทับโดยไม่ต้องมีแพรจีบรองพื้นก่อน
ชุดไทยประยุกต์ คืออะไร
เมื่อพูดถึงชุดไทย คนส่วนใหญ่ก็จะเข้าใจกันดีว่าเป็นชุดประจำชาติ นิยมตัดเย็บด้วยผ้าไหมหรือผ้าฝ้ายที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะเพื่อให้ชุดไทยที่ตัดเย็บออกมาสวยงามโดดเด่น ปัจจุบันชุดไทยแบบดั้งเดิมได้มีการออกแบบให้เหมาะกับยุคสมัยมากขึ้นหรือที่เรียกกันว่า ชุดไทยประยุกต์
ความหมายของชุดไทยประยุกต์ ได้แก่ รูปแบบชุดประจำชาติไทยที่นำชุดไทยพระราชนิยมมาปรับเปลี่ยนเพื่อให้ชุดไทยมีรูปแบบใหม่ ๆ เหมาะกับยุคสมัยและวิถีการใช้ชีวิตของคนไทยในปัจจุบันมากขึ้น แต่ยังคงความสง่างามสะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของความเป็นชุดประจำชาติของไทยไว้เช่นเดิม ชุดไทยประยุกต์ ที่นิยมสวมใส่ในงานมงคลสมรส
ทราบประเภทของชุดไทย และความหมายของชุดไทยประยุกต์ที่ถูกต้องก็จะช่วยให้ว่าที่เจ้าสาวเลือกรูปแบบชุดไทยได้เหมาะสมกับพิธีการ เช่น พิธีหมั้น พิธีรดน้ำสังข์ ตักบาตรหรืองานเลี้ยงฉลองมงคลสมรส โดยชุดไทยประยุกต์ที่ได้รับความนิยม เช่น ชุดไทยดุสิต ชุดไทยจักรพรรดิ ชุดไทยศิวาลัย และชุดไทยจักรี