ทำความรู้จักขบวนขันหมากไทย พร้อมประวัติความเป็นมาอันยาวนาน

ทำความรู้จักขบวนขันหมากไทย พร้อมประวัติความเป็นมาอันยาวนาน

ถ้าพูดถึง “ขบวนขันหมากไทย” คงจะรู้จักกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ขบวนขันหมากจะเกิดขึ้นในงานแต่งงาน ถือว่าเป็นประเพณีที่มีความสำคัญและมีประวัติมายาวนาน แถมยังเป็นประเพณีที่มีความละเอียดอ่อน แต่ปัจจุบันนี้ทางเลือกในการจัดงานแต่งยุคใหม่จะแต่งแบบสากล หรือ แบบไทยก็ได้ทั้งนั้น ไม่มีถูกผิดแล้วแต่ความต้องการและไลฟ์สไตล์ของคู่บ่าว-สาว

เลือกชุดเพื่อนเจ้าสาวอย่างไรให้ปัง? ถูกใจเพื่อน แต่ไม่เด่นเกินหน้าเจ้าสาว

ขบวนขันหมากไทย คืออะไร? มีประวัติความเป็นมาอย่างไร?

ต่อมาเราจะพาคุณมาทำความรู้จักกับ “ขบวนขันหมากไทย” หรือ พิธีแห่ขันหมากไทย กันให้มากขึ้นกว่าเดิม ขบวนขันหมากไทยจะเกิดขึ้นในการแต่งงานพิธีแบบไทย ซึ่งฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องเป็นฝ่ายจัดเตรียมขบวน ความพร้อมของขบวนจะต้องพร้อมก่อนที่จะเดินทางไปยังบ้านเจ้าสาว ซึ่งประวัติความเป็นมาของขบวนขันหมาก เริ่มต้นในสมัยสุโขทัยและมีจารึกที่บัญญัติไว้โดยสมเด็จพระร่วงเจ้า กล่าวว่า “ถ้าชาวไทยทำการรับแขกเป็นสนามใหญ่มีการอาวาหมงคลหรือวิวาหมงคลแล้ว ให้ร้อยกรองดอกไม้เป็นรูปพานขันหมาก และให้เรียกว่าพานขันหมาก” และได้รับการสืบทอดมาจนปัจจุบันนี้ ถ้านับจากจุดเริ่มต้นก็มีความเป็นมายาวนานหลายร้อยปีแล้ว

การจัดขบวนขันหมากไทย

การจัดขบวนขันหมากไทย จะต้องเตรียมของ 20 อย่าง ดังนี้

  1. ขบวนกลองยาวนำหน้าขบวน ( เพื่อสร้างความครึกครื้น ) หลังจากกลองยาวจะตามด้วย ขันหมากเอก-ขันหมากโท
  2. เถ้าแก่ / ประทานพิธี และเด็กนำขันหมาก ( ต้องเป็นเด็กผู้ชายเท่านั้น )
  3. ช่อดอกไม้เล็ก ๆ หรือพานธูปเทียนแพร
  4. คนถือซองเงิน ( สินสอดสู่ขอ ) ต้องเป็นพ่อและแม่ของเจ้าบ่าว
  5. คู่ต้นกล้วย-ต้นอ้อย
  6. ขันหมากเอก ( ต้องให้ญาติผู้ใหญ่ถือ )
  7. คู่พานขันหมากพลู
  8. พานขันหมากเงินสินสอด และ พานทองหมั้น
  9. พานแหวนหมั้น พานธูปเทียนแพร
  10. คู่พานผ้าไหว้
  11. ขันหมากโท ( ให้ญาติหรือเพื่อน ๆ ของเจ้าบ่าวถือ )
  12. คู่พานขาหมู
  13. คู่พานวุ้นเส้น
  14. คู่พานมะพร้าว
  15. คู่พานกล้วยหอม–ส้ม-ชมพูเพชร
  16. คู่พานส้มโอ
  17. คู่พานขนมมงคล 9 อย่าง
  18. คู่พานขนมเสน่ห์จันทร์หรือขนมเปี๊ยะ
  19. คู่พานขนมกล่อง
  20. ขบวนรำ

ของแต่ละอย่างสามารถเพิ่ม-ลด ตามความเหมาะสมบางอย่างไม่ต้องมีก็ไม่เป็นไร เพราะการเตรียมของก็ไม่ได้เหมือนกันทุกที่ บางที่อาจจะมากกว่านี้หรือบางที่อาจจะน้อยกว่านี้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมและความเชื่อ แต่สิ่งที่คุณควรจะให้ความสำคัญก็คือ “พานขันหมาก” จะมีพานสำคัญ ๆ อยู่ 5 พาน ได้แก่ ขันหมากเอก, ขันหมากโท, คู่พานขันหมากพลู, พานขันหมากเงินสินสอด และ พานทองหมั้น

ขั้นตอน / พิธีแห่ขบวนขันหมากไทย

เมื่อจัดเตรียมของทุกอย่างเสร็จสิ้นแล้ว ต่อมาก็จะเป็นการเริ่มแห่ขบวนไปยังบ้านเจ้าสาว มีวิธีการและขั้นตอนพิธี ดังนี้

  • อย่างแรกฝั่งเจ้าบ่าวพ่อ-แม่เพื่อนและเครือญาติ จะต้องเตรียมของเอามาตั้งขบวน เมื่อก่อนจะเดินขบวนทางจากบ้านเจ้าบ่าวไปบ้านเจ้าสาว แต่สมัยนี้ไม่ต้องเหนื่อยลำบากขนาดนั้นก็ได้ เพียงแค่เริ่มต้นตั้งขบวนบริเวณที่ห่างจากบ้านเจ้าสาวสักระยะหนึ่งสักครึ่งกิโล เมื่อเริ่มขบวนเจ้าบ่าวจะต้องโห่ร้อง 3 ครั้ง เพื่อส่งสัญญาณว่าขันหมากพร้อมเคลื่อนขบวนแล้ว ร้องเล่นเต้นรำ กันไปได้ตลอดทาง บอกเลยว่าการแห่ขันหมากนั้นสนุกสุด ๆ
  • เมื่อขบวนเดินทางมาถึงบ้านเจ้าสาว หรือ สถานที่จัดงานแต่งแล้ว พอถึงจะต้องร้องโห่อีก 3 ครั้ง เหมือนกันตอนเริ่มขบวน จากนั้นเด็กผู้หญิงของฝั่งเจ้าสาวที่ทำหน้าที่ถือพานหมากจะออกมาต้อนรับขบวน โดยฝั่งเจ้าบ่าวเด็กจะต้องมอบพานและดอกไม้ธูปเทียนกลับคืน
  • ก่อนจะถึงตัวเจ้าสาวไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะต้องผ่านด่านที่เรียกว่า “ประตูเงิน-ประตูทอง” ญาติหรือพ้องเพื่อนของเจ้าสาวจะมากั้นประตู ยืนเป็นคู่ 2 ฝั่ง ใช้ผ้าแพร, เครื่องประดับ เช่น ทอง เข็มขัด หรือ สร้อยเงิน–สร้อยทอง เพื่อกันเจ้าบ่าว ต้องจ่ายค่าผ่านทาง นั่นก็คือ ซองแดง เป็นธรรมเนียมแก่ผู้เฝ้าประตู ยุค 2022 นี้การตั้งประตูเงินประตูทองถือว่าเป็นการสร้างสีสันได้เป็นอย่างดี อาจจะมีเกมต่าง ๆ ให้ได้เล่นกัน มอบรอยยิ้มเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับทุกคน

เชื่อว่าทุกคนคงมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับ “ขบวนขันหมากไทย” กันมากขึ้น ต่อไปการเตรียมขันหมากของเจ้าบ่าวก็คงจะง่ายขึ้นแล้วเมื่อได้อ่านบทความนี้ 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Verified by MonsterInsights