ถ้าคุณมีการจัดงานแต่งแบบไทย ๆ ในช่วงเช้าและช่วงสาย หรือที่ถูกเรียกกันว่างานหมั้นช่วงเช้า หนึ่งในพิธีการสำคัญที่คุณไม่ควรมองข้าม คือ เรื่องการจัดขันหมากและพิธีแห่ ที่จะสร้างทั้งความสนุกสนานและการทำตามประเพณีอย่างถูกต้อง พร้อมไปด้วยความเป็นสิริมงคลให้กับคู่บ่าวสาว ด้วยสิ่งของที่ถูกใส่ไว้ในพานขันหมาก ดังนั้นถ้าคุณต้องการรู้จักพิธีแห่ขันหมากและการจัดไอเทมเสริมสิริมงคลต่าง ๆ ลงบนพานขันหมากให้มากขึ้น ภายในบทความนี้มีคำตอบให้คุณแน่นอน
ทำความรู้จักขันหมาก ขั้นตอนสำคัญของงานแต่งแบบไทย
การแห่ขันหมากถือเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์สำคัญของการจัดงานในแบบไทย ๆ โดยเฉพาะงานช่วงสายที่จะต่อจากงานช่วงเช้า หรือเป็นงานช่วงพิธีหมั้น ซึ่งการแห่ขบวนขันหมากในประเพณีไทยดั้งเดิมจะมีการแห่ถึง 2 ครั้ง คือ ขันหมากหมั้นและขันหมากแต่งงาน แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จึงมีการปรับเพื่อให้เหมาะสมต่อการใช้ชีวิตของคนในยุคนี้มากขึ้น ด้วยการนำทั้ง 2 งานแห่มารวมไว้ในหนึ่งเดียว เพื่อทำให้ประหยัดเวลาและงบประมาณมากขึ้น ดังนั้นในยุคปัจจุบันจึงมีการแห่ขันหมากแบบดั้งเดิมเพียงขันหมากเอกและขันหมากโท
นอกจากนี้พิธีการแห่ขันหมากยังเป็นหนึ่งในการแสดงให้เห็นถึงความเคารพ และการบอกกล่าวกับผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาว เมื่อต้องการสู่ขอลูกสาวของบ้านไปเป็นภรรยา ส่วนทางญาติฝ่ายเจ้าบ่าวจะเป็นการแสดงออกถึงความเต็มใจในการรับลูกสาว ของอีกบ้าน มาเป็นลูกสาวของตนเองในฐานะสะใภ้ จึงถือเป็นความชื่นมื่นของครอบครัวทั้งสองฝ่าย ส่วนการจัดขันหมากเอกกับขันหมากโทจะมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1.ขันหมากเอก
การจัดขันหมากเอกจะเป็นพานขันหมากของทางฝ่ายชาย ที่จะเชิญมาสู่บ้านของฝ่ายหญิง โดยจะมีส่วนประกอบเป็นพานสินสอด, พานทองหมั้น, พานแหวนหมั้น, พานธูปเทียนแพ, พานผ้าสำหรับไหว้, พานเชิญขันหมาก และร่มสีขาว โดยในทุกพานจะมีการใส่ถุงผ้าหรือห่อผ้าไว้เป็นที่เรียบร้อย
2.ขันหมากโท
สำหรับขันหมากโทจะถูกเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าขันหมากบริวาร จะประกอบไปด้วยพานของขนมมงคล 9 ชนิด, พานอาหารคาวอย่างไก่ต้มและหมูนอนตอง, พานวุ้นเส้น, พานมะพร้าว, พานกล้วยหอมและส้ม, พานส้มโอ, พานชมพูเพชร, พานขนมเสน่ห์จันทร์และขนมเปี๊ยะ, พานขนมกล่อง, ธูป, เทียน, มะพร้าวเหล้า และผ้าขาว
ไอเทมเสริมสิริมงคล ที่นิยมใส่ในพานขันหมากคืออะไร
สำหรับการจัดพานทั้ง 2 รูปแบบ จะมี ไอเทมเสริมสิริมงคลที่นิยมใส่ไว้บนพานขันหมาก คือ
- พานขันหมากจะมีหมาก 8 พลู 4 โดยเรียงพลู 8 ใบ, ถุงเงิน 2 ใบ, ถุงทอง 2 ใบ ภายในจะบรรจุไปด้วย ข้าวเปลือก, ถั่วเขียว, ข้าวตอก, งาดำ และซองเงิน
- พานสินสอดและทองหมั้น จะมีการใส่เงินสินสอด เครื่องประดับมีค่าที่มีทั้งเพชร ทอง และนาคในหนึ่งเดียว มีผ้าคลุม โดยจะเน้นเป็นผ้าลูกไม้ คลุมทั้งเงินและเครื่องประดับทั้งหมด
- พานสินสอดจะมีใบเงิน, ใบทอง, ใบนาค, กลีบดาวเรือง, กลีบดอกกุหลาบ, ดอกมะลิ, ดอกรัก, บานไม่รู้โรย, ถุงเงิน และถุงทอง
- พานผ้าสำหรับไหว้ผู้ใหญ่จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของการใส่ผ้านุ่ง 1 ผืน, ผ้าห่ม 1 ผืน, เทียนและธูปหอม รวมไปถึงดอกไม้ 1 กระทง จะใช้ไหว้บรรพบุรุษ ส่วนที่ 2 จะเป็นการไหว้ญาติผู้ใหญ่และพ่อแม่ของสองฝ่าย โดยจะมีผ้าขาวสำหรับการนุ่งและผ้าห่มอย่างละ 1 ผืน หรือจะใช้เป็นเสื้อผ้าแทนก็ได้
- ขนมมงคล 9 ชนิด ถ้าต้องการขนมหาง่าย ให้ใช้เป็นทองหยิบ, ทองหยอด, ฝอยทอง, จ่ามงกุฎ, ทองเอก, เสน่ห์จันทร์, หม้อแกง, ลูกชุบ, ข้าวเหนียวแดง, ข้าวเหนียวแก้ว หรือขนมชั้น
- ขนมมงคลในงานแต่งของคนยุคก่อน คือ ขนมทองเอก, ขนมกง, ขนมสามเกลอ, ขนมชะมด, ขนมรังนก, ขนมโพรงแสม เป็นต้น
ภายในพานขันหมากจะเต็มไปด้วยไอเทมสำคัญต่าง ๆ ที่จะเป็นการเสริมสิริมงคลต่อคู่บ่าวสาวและงานแต่งมากยิ่งขึ้น ทางด้านเจ้าสาวเองจะต้องมีการเตรียมพานเชิญขันหมากไว้ พร้อมด้วยผู้ถือประตูเงินและทองหน้าบ้าน เพื่อเป็นการทำตามธรรมเนียมดั้งเดิมและเป็นมารยาทของการเชิญญาติผู้ใหญ่สองฝ่ายขึ้นสู่เรือนเจ้าสาวอีกด้วย