สำหรับผู้ที่จัดงานแต่งแบบพิธีไทย จะมีลำดับขั้นตอนและพิธี รวมไปถึงช่วงเวลาต่าง ๆ ของงานช่วงเช้า ที่จะต้องทำให้ถูกต้องตรงเวลา เพื่อทำให้คิวงานต่างๆ ไม่ทับกัน ที่สำคัญคือไม่ทำให้คู่บ่าวสาวต้องรู้สึกล้ามากจนเกินไป พร้อมทำให้ญาติผู้ใหญ่รู้สึกประทับใจ ซึ่งถ้าคุณสนใจจะ ทำพิธีหมั้นและแต่งช่วงเช้า จึงควรรู้ขั้นตอนอย่างถูกต้องที่จะถูกระบุไว้ภายในบทความนี้
แนะนำลำดับขั้นตอนและพิธีการ พร้อมช่วงเวลาในงานเช้า
งานช่วงเช้าตามแบบฉบับพิธีไทย จะเป็นงานหมั้น งานพิธีมงคลสมรส และการทำบุญ ที่ถือเป็นส่วนสำคัญของงานแต่ง ซึ่งคู่รักในประเทศไทยส่วนใหญ่จะมีการจัดพิธีเช้าและการจัดพิธีเย็นที่เป็นงานฉลอง จึงจะถือว่าเป็นความสมบูรณ์แบบของงานแต่ง ดังนั้นเรื่องที่คู่บ่าวสาวรุ่นใหม่ควรรู้ คือ ลำดับขั้นตอน พิธีการ และช่วงเวลาที่ถูกต้อง ภายในงานแต่งช่วงเช้าตามประเพณีไทยแท้ ดังนี้
1.ช่วงพิธีสงฆ์
พิธีสงฆ์จะเป็นการนิมนต์พระสงฆ์มาร่วมให้พร เริ่มต้นด้วยช่วงเวลา 7.00 น. แล้วมีการถวายน้ำปานะแด่พระสงฆ์ จากนั้นจะเริ่มพิธีด้วยการเชิญเจ้าบ่าวกับเจ้าสาว มาจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยต่อหน้าบริเวณพระพุทธรูป โดยเจ้าสาวจะต้องนั่งทางขวามือและเจ้าบ่าวจะต้องนั่งทางซ้ายมือของพระพุทธรูป ทางพระสงฆ์จะมีการสวดอาราธนาศีล รับศีล การประกอบพิธีอาราธนาพระปริตร สวดมงคลสูตรและสวดให้พร ทางคู่บ่าวสาวจะมีการตักบาตรทำบุญร่วมกัน หลังการตักบาตรแล้วทั้งคู่จะต้องมีการกรวดน้ำ รับพร และรับน้ำพระพุทธมนต์ต่อไป
2.การแห่ขันหมาก
เมื่อทำพิธีสงฆ์เสร็จเรียบร้อย จนมีการส่งพระสงฆ์เพื่อเดินทางกลับวัด ทางฝ่ายเจ้าบ่าวจะแยกตัวออก เพื่อทำพิธีแห่ขันหมาก โดยจะมีการตั้งขบวนและเริ่มเดินช่วงเวลา 9.09 น. เมื่อขันหมากมาถึงหน้าบ้านหรือบริเวณจัดงาน จะต้องจ่ายค่าผ่านประตูเงิน ประตูทอง และประตูนาค ผู้ใหญ่ทางฝ่ายเจ้าสาวจะต้องรับขันหมาก เพื่อนำมาวางไว้ที่ด้านหน้าของญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย ทางเจ้าบ่าวจะต้องนำพานธูปเทียนแพมาทำการไหว้พ่อแม่ของฝั่งเจ้าสาว เพื่อเป็นการบ่งบอกถึงการขออนุญาตแต่งงานและรับตัวเจ้าสาวกลับบ้าน จากนั้นจะมีพิธีที่เจ้าบ่าวต้องรับตัวเจ้าสาวมาสู่งาน
3.พิธีการสู่ขอและหมั้นหมาย
คู่บ่าวสาวมาพร้อมหน้าแล้วจะต้องกราบญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย โดยจะมีเถ้าแก่ของทางฝ่ายเจ้าบ่าวเป็นผู้กล่าวคำสู่ขอและทำการเปิดขันหมากเอก เพื่อเป็นการมอบให้กับฝั่งเจ้าสาว ต่อจากนี้แม่ของทางฝั่งเจ้าสาวจะเป็นผู้เปิดพานสินสอดและตรวจนับ ซึ่งถือเป็นพิธีการตามประเพณีและจะมีการโปรยข้าวตอกดอกไม้ลงสู่สินสอด ซึ่งผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายจะช่วยกันโปรยแล้วทำการอวยพรคู่บ่าวสาว ฝั่งแม่ของเจ้าสาวจะมีการนำห่อผ้าสินสอดแบกใส่บ่า และนำไปเก็บไว้ภายในห้อง จากนั้นเจ้าบ่าวทำการสวมแหวนหมั้นให้กับเจ้าสาว พร้อมยกเครื่องทองของหมั้นอื่น ๆ ส่งต่อให้แก่เจ้าสาว เท่านี้จะถือว่าเสร็จสิ้นพิธีการหมั้นหมายและการสู่ขอ
4.พิธีไหว้ผู้ใหญ่
หลังจากทำพิธีหมั้นหมายเรียบร้อย จะมีพิธีของการไหว้ผู้ใหญ่ช่วงเวลา 09.39-10.00 น. โดยที่เจ้าสาวจะนั่งประจำที่กับพานธูปเทียนแพ 1 ชุด ส่วนเจ้าบ่าวจะต้องนำธูปเทียนแพมากราบไหว้และเป็นการกล่าวคำขอขมา ทางฝั่งญาติผู้ใหญ่ของเจ้าบ่าวจะต้องจับพานของคู่บ่าวสาวไว้ จากนั้นคู่บ่าวสาวจะวางพานลงและกราบเท้า พร้อมมอบผ้ารับไหว้ เท่านี้ก็ถือว่าเสร็จพิธี
5.พิธีการหลั่งน้ำพระพุทธมนต์
หลังช่วงเวลา 10.09 น.เป็นต้นไป จะเข้าสู่พิธีการหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ โดยจะเชิญคู่บ่าวสาวเข้าไปนั่งภายในตั่ง ทางฝั่งเจ้าบ่าวจะนั่งขวาและทางฝั่งเจ้าสาวจะนั่งซ้าย ต้องมีพิธีกรในงานเชิญประธาน เพื่อการสวมมาลัยให้กับทั้งคู่ จากนั้นจะเป็นพ่อแม่ทำการสวมมงคลให้กับคู่บ่าวสาว และญาติผู้ใหญ่จะเข้ามาเจิมหน้าผาก ประธานภายในพิธีจะทำการหลั่งน้ำพระพุทธมนต์เป็นคนแรกและจะอวยพรให้กับคู่บ่าวสาว ซึ่งประธานจึงต้องเลือกผู้ใหญ่ที่มีความน่าเชื่อถือ มีครอบครัวสมบูรณ์พร้อม และเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เพื่อทำให้ความรักของคู่บ่าวสาวราบรื่น จากนั้นแขกที่มาร่วมงานจึงจะสามารถทำการหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ได้
สำหรับลำดับขั้นตอนและช่วงเวลา อาจจะมีการปรับเปลี่ยนตามความสะดวกของคู่บ่าวสาวได้ แต่ไม่ควรเกินช่วงที่ได้ระบุไว้ โดยเฉพาะขั้นตอนของพิธีสงฆ์ สามารถปรับจากการจัดช่วงเวลา 7.00 น. เป็นช่วงเวลา 9.30 น.แทนได้ ไม่ถือว่าผิด เพราะยุคปัจจุบันสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบงาน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมต่อคู่บ่าวสาว ญาติผู้ใหญ่ และผู้ที่มาร่วมงานได้ทั้งหมด