ก่อนแห่ขันหมากต้องรู้! จัดเตรียมขบวนขันหมากอย่างไรให้ถูกหลักตรงตามประเพณี
การแห่ขบวนขันหมากถือว่าเป็นประเพณีอันงดงามมีมาช้านาน เป็นพิธีที่นิยมใช้กันในงานแต่งงานแบบไทย โดยขบวนขันหมากจะเป็นการตระเตรียมพิธีของฝ่ายชาย แต่จะเป็นการมีส่วนร่วมกันทั้งสองฝ่าย เป็นความครื้นเครงที่จะได้ร่วมกันร้องเล่นเต้นรำในขบวนแห่ โดยพิธีต่าง ๆ จะถูกจัดเตรียมเอาไว้ในขบวนขันหมาก มีการลำดับความสำคัญ แม้กระทั่งการยืนในแต่ละตำแหน่ง ถูกกำหนดเอาไว้เป็นมาตรฐาน อีกทั้งยังมีเครื่องพิธีต่าง ๆ ที่ใช้ในขบวนด้วย
ดังนั้น มือใหม่ที่อยากจัดงานแต่งงานด้วยพิธีนี้ และไม่ค่อยมีประสบการณ์เกี่ยวกับงานแต่งในแบบของไทยสักเท่าไหร่ จะต้องเตรียมตัวเองให้พร้อม และเข้าใจลำดับพิธีการ เพื่อให้วันงานราบรื่น ลำดับขั้นตอนถูกต้อง ไร้อุปสรรค ซึ่งจะถือว่าเป็นมงคลแด่คู่บ่าวสาวในวันนั้น ๆ ด้วย
พานขันหมากฝ่ายเจ้าบ่าว มีอะไรบ้าง?
หากใช้พิธีตามหลักโบราณ จะมีแค่ขันหมากเอก และขันหมากโท และส่วนที่เหลือจะเป็นสิ่งของสำหรับการสู่ขอในงานแต่ง นั่นก็คือสินสอดทองหมั้น
1.พานขันหมากเอก
เป็นพานหลักที่วางหมากเอาไว้ ส่วนในอดีตจะใช้เพียงใบำไม้ที่เป็นมงคลมาจัดวางบนพาน ส่วนหมากพลูถูกวางเอาไว้ในขันข้าวสาร จากนั้นวางไว้บนพานแว่นฟ้าอีกที ด้านบ้านปักด้วยยอดฉัตรระย้าทองอังกฤษ ซึ่งมีความสวยงาม หรือจะใช้เป็นดอกไม้ตกแต่งให้พานดูมีสีสันมากขึ้น มีการเพิ่มพานธูปเทียน และองค์ประกอบอื่นอีกมากมายตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไป แน่นอนว่าแต่ละพื้นที่จังหวัดจะแตกต่างกันตามประเพณีท้องถิ่น
2.พานขันหมากโท
คือพานรองลงมาหรือขันหมากของบริวาร ในอดีตใช้ขนมมงคลวางเอาไว้ แต่ในปัจจุบันจะใส่เป็นผลไม้ ขนม มาร่วมด้วย เชื่อกันว่ายิ่งมีพานขันหมากโทยิ่งเยอะ ยิ่งดี เป็นสิ่งมงคล นิยมถือเป็นจำนวนเลขคู่ หรือเลขคู่ลงท้ายด้วย 1 เช่น 101 เป็นต้น
ส่วนที่เหลือในขบวนแห่ขันหมาก ฝ่ายชายจะต้องเตรียมขันหมากเอก, ขันหมากโท และสินสอดเงินทุน พร้อมเครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษ เช่น พานขนม, พานวุ้นเส้น 1 คู่, พานมะพร้าว 1 คู่, พานหมูนอนตอง, พานไก่ต้ม, พานกล้วยหอมเป็นคู่ ฯลฯ อาจมีแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละพื้นที่ด้วย
การจัดเรียงลำดับขบวนขันหมาก
ลำดับสำคัญของขบวนขันหมาก จะมีการเรียงลำดับตั้งแต่หัวจรดท้ายในการเดินมายังบ้านฝ่ายหญิง มีตำแหน่งคนถือพาน ให้ความสำคัญจากแถวหน้าสุด ไปหลังสุด ซึ่งได้แก่
1.เจ้าบ่าวอยู่ด้านหน้าสุดของขบวน พร้อมถือช่อดอกไม้หรือพานธูปเทียน แล้วต่อด้วยเถ้าแก่ฝั่งเจ้าบ่าว เมื่อใกล้จะถึงบ้านเจ้าสาว เถ้าแก่จะต้องเริ่มออกเดินนำ เพื่อไปขอเจรจา
2.คนถือซองใส่เงิน นิยมให้เป็นพ่อและแม่ของฝ่ายเจ้าบ่าว หรือเป็นญาติที่มีความสนิทสนมกัน เดินเป็นคู่ด้วยกันมา
3.คนถือต้นกล้วยและต้นอ้อย เดินคู่กัน
4.พานขันหมาก จะเริ่มต้นตั้งแต่ลำดับนี้ ซึ่งจะเป็นพานขันหมากเอก และขันหมากโท คนที่ถือสามารถเป็นญาติสนิทหรือเพื่อนของฝั่งเจ้าบ่าวได้ จากนั้นลำดับถัดไปก็จะเป็นพานอื่น ๆ ที่ตระเตรียมเอาไว้ โดยการเรียงลำดับก็ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่อีกเช่นกัน
5.ขบวนปิดท้ายมักจะเป็นขบวนรำเพื่อความสนุกสนาน มีการเล่นดนตรี ร้องเพลง และการโฮ่ร้องระหว่างเดินทางด้วย
อย่างไรก็ตาม บางลำดับอาจถูกตัดออกไป เพราะยุ่งยากและเกินความจำเป็น มักคงเหลือไว้เป็นพานเอกและพานโทเป็นหลัก เพื่อความเป็นมงคล รวมถึงพานสินสอด และพานขนมมงคลที่ยังคงนิยมใช้ในขบวนเป็นหลัก เพราะเป็นความเชื่อในเรื่องการเสริมดวงมงคลให้คู่บ่าวสาว
การเดินขันหมากไปสู่ขอฝ่ายเจ้าสาว
ในการเตรียมตัวเดินทางไปยังบ้านเจ้าสาว เมื่อจัดแถวให้เรียบร้อยแล้ว ขบวนจะเริ่มต้นด้วยเสียงโห่เพื่อเอาฤกษ์เอาชัย และจะมีการร้องโห่เป็นระยะ ๆ ไปตลอดทาง จนถึงบ้านเจ้าสาว เถ้าแก่จะออกมานำหน้าขอเจรจา พูดคุยกับเถ้าแก่ฝั่งเจ้าสาว โดยหลัก ๆ จะถามไถ่กันว่า “วันนี้มาทำอะไรกันงั้นหรือ” ฝ่ายเจ้าบ่าวก็จะตอบกลับไปว่า “วันนี้วันดีเป็นมงคลยิ่ง เลยนำขันหมากและลูกเขยมาให้” เมื่อจบการสนทนา จะมีเด็กผู้หญิงมารับพานธูปเทียนที่เจ้าบ่าวถือ และเข้าสู่พิธีกั้นประตูเงินประตูทอง จากญาติหรือเพื่อนของฝ่ายเจ้าสาว ยืนกันเป็นคู่ จ่ายค่าธรรมเนียมผ่านประตู อาจเป็นเงิน หรือการบอกให้ทำตามคำสั่งถึงจะเปิดประตูให้ เมื่อเจ้าบ่าวเข้าไปถึงด้านในเรือนแล้ว ต้นกล้วยและต้นอ้อยจะถูกตั้งไว้นอกบ้าน เพื่อนำลงปลูกในดินต่อไป ส่วนสิ่งของอื่น ๆ จะถูกนำไปจัดวางอย่างเป็นระเบียบด้านใน โดยจะมีพานสินสอดทองหมั้นและแหวนหมั้นเป็นพานหลักในพิธีสู่ขอและแต่งงานกัน
แม้ดูเหมือนจะมีความยุ่งยากหลายขั้นตอน แต่หากจัดเรียงและลำดับขั้นตอนได้อย่างเข้าใจ ก็ไม่ใช่เรื่องยากอย่างทีคิด แถมเป็นประเพณีอันสวยงาม สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทยสมัยโบราณออกมาได้อย่างน่าประทับใจอย่างมากเลยทีเดียว