ภายในประเทศไทยมีชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงมีพิธีแต่งงานแบบจีนที่เข้ามามีบทบาทกับคนไทยมากพอสมควร นอกจากนี้พิธีไทยบางขั้นตอนยังมีการผสมผสานพิธีจีนร่วมด้วย ดังนั้นถ้าคุณเป็นลูกหลานที่มีเชื้อสายจีนและต้องการเข้าพิธีแต่งงานในสไตล์จีนดั้งเดิม หรืออาจจะเป็นสไตล์ผสมผสานความเป็นรุ่นใหม่ คุณควรศึกษาพิธีการต่าง ๆ แล้วนำมาปรับให้เหมาะสม เพื่อทำให้เกิดความราบรื่นในการจัดงานมากที่สุด จึงขอแนะนำลำดับพิธีแต่งงานของจีน ดังนี้
1.การยกขบวนขันหมาก
หลังจากการได้รับฤกษ์แต่งงานมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต้องมีการจัดเตรียมของต่าง ๆ เพื่อการออกเรือนของทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาว รวมไปถึงการเตรียมสินสอดของทางเจ้าบ่าวและมาสู่พิธีการยกขบวนขันหมากเพื่อรับเจ้าสาวเข้าบ้าน โดยวิธีนี้ทางเจ้าบ่าวจะต้องมีการเตรียมขันหมากเพื่อยกไปสู่บ้านเจ้าสาว เช่น
- ส้มเช้งที่ทางฝ่ายเจ้าสาวจะเป็นผู้กำหนดจำนวน และใช้เป็นจำนวนคู่เท่านั้น พร้อมการติดตัวหนังสือซังฮี้สีแดงไว้ที่ผลของส้มทุกลูก
- กล้วยจำนวน 1 เครือ
- ต้นอ้อย 1 คู่
- ขาหมูสด 3 ถาด โดยถาดแรกจะเป็นหัวหมู 1 หัว เท้า 4 ข้าง และหาง 1 หาง, ถาดที่ 2 จะเป็นขาหมู 4 ขา เน้นใช้ขาหมูสด และถาดที่ 3 จะเป็นเนื้อส่วนท้องของแม่หมู หรือที่เรียกว่า “โต้วเตี๊ยบะ” เพื่อเป็นการอวยพรให้เจ้าสาว มีลูกสมดังหวัง
- ชุดขนมหมั้นและขนมสำหรับงานแต่งหรือขนมจันอับ
- เงินสินสอดและทองคำที่จะต้องอยู่ภายในถาดเดียวกัน
- ของเซ่นไหว้บ้านทางฝั่งเจ้าสาว ที่จะต้องเตรียมไว้ 2 ชุด สำหรับการไหว้เจ้าที่และไหว้บรรพบุรุษ โดยจะต้องมีทั้งของคาว, ของหวาน, ผลไม้, เหล้า, ดอกไม้ และธูปเทียน
ที่สำคัญที่สุดคือเถ้าแก่สู่ขอที่จะต้องนำขบวนขันหมาก โดยจะต้องเป็นผู้ใหญ่ที่คู่บ่าวสาวเคารพและมีความน่านับถือ เพื่อทำให้ชีวิตครอบครัวมีแต่ความสุข ความเจริญรุ่งเรือง และความราบรื่น
2.การลาครอบครัวของเจ้าสาว
การลาครอบครัวของทางฝ่ายเจ้าสาว จะต้องมีพิธีช่วงเช้าของวันงานแต่งและวันส่งตัว ซึ่งทางฝั่งเจ้าสาวจะต้องแต่งตัวในชุดกี่เพ้าสีแดงที่สวยที่สุดและมีการปักปิ่นเงิน-ทอง ปักใบทับทิมที่ทางแม่เจ้าสาวจะเป็นผู้มอบให้ โดยจะต้องเน้นเป็นกี่เพ้าสีแดงเท่านั้น ห้ามใส่ชุดสีชมพูเด็ดขาด เพราะเนื่องมาจากความเชื่อโบราณของจีน ถ้าเจ้าสาวใส่ชุดกี่เพ้าสีชมพูอาจจะได้แต่งเป็นครั้งที่สองหรืออาจจะกลายเป็นเมียน้อยได้ เมื่อแต่งเสร็จเรียบร้อยแล้วจะต้องมีการไหว้ฟ้าดินและบรรพบุรุษ พร้อมทานอาหารร่วมกับครอบครัว พ่อแม่ของทางฝั่งเจ้าสาวจะต้องคีบอาหารป้อนให้กับเจ้าสาว เพื่อเป็นการอวยพรให้ลูกมีความสุข โดยอาหารมงคลที่ใช้ในพิธีลาจะประกอบไปด้วย
- เนื้อปลา
- เนื้อไก่
- หัวใจหมู
- ตับหมู
- ไส้หมู
- กระเพาะหมู
- เส้นหมี่
- เห็ดหอม
- เนื้อปู
- ผักกุยช่าย
- ผักเกาฮะฉ่าย
3.การรับตัวเจ้าสาว
หลังจากลาครอบครัวแล้วจะได้ฤกษ์ยามที่เจ้าบ่าวเดินทางมารับตัวเจ้าสาว จุดนี้ทางเจ้าบ่าวจะต้องผ่านการกั้นประตูเงิน ประตูทอง พร้อมแจกซองเพื่อความเป็นสิริมงคลและเจ้าสาวจะนั่งถือพัดแดงรอฝ่ายเจ้าบ่าวอยู่ภายในห้อง เมื่อเจ้าบ่าวเข้าบ้านเจ้าสาวแล้ว จะต้องทำการไหว้ฟ้าดิน ไหว้เจ้าที่ ไหว้บรรพบุรุษของตระกูลเจ้าสาวทั้งหมดก่อน เพื่อเป็นการสู่ขออย่างสมบูรณ์แบบ เจ้าบ่าวจึงจะสามารถเข้ารับตัวเจ้าสาวและมอบช่อดอกไม้ พร้อมนั่งรับประทานขนมอี๊สีชมพูแล้วกราบลาพ่อแม่ของเจ้าสาว เพื่อเดินทางกลับสู่บ้านของเจ้าบ่าว โดยคุณพ่อจะเป็นผู้ที่พาเจ้าสาวขึ้นรถและมีการอวยพร ญาติทางฝั่งเจ้าสาวจะต้องถือตะเกียง โดยที่ญาติจะต้องไปด้วย เพื่อนำตะเกียงนี้เข้าสู่ห้องนอนหรือเรือนหอของคู่บ่าวสาวและจุดทิ้งไว้ทั้งคืน
4.จัดเตรียมพิธียกน้ำชา
สำหรับการจัดเตรียมพิธียกน้ำชาแบบดั้งเดิม หรือที่ถูกเรียกว่าซังเต๊จะเป็นการจัดในวันรุ่งขึ้นหลังงานแต่ง โดยจะเป็นพิธีการเคารพผู้ใหญ่ภายในบ้านของทางฝ่ายเจ้าบ่าว ญาติที่จะเข้าร่วมพิธีจึงจะต้องเรียงลำดับจากผู้อาวุโสมากที่สุด ซึ่งการยกน้ำชา ญาติของฝ่ายชายจะต้องอยู่ทางซ้าย ส่วนตัวคู่บ่าวสาวจะต้องนั่งชิดกัน โดยทั้งคู่จะต้องคุกเข่าเพื่อรินน้ำชาใส่ถ้วยและวางบนถาด พร้อมจับทั้งสองมือเพื่อยกน้ำชาให้ผู้ใหญ่ดื่มจนหมดถ้วย จากนั้นทางฝั่งผู้ใหญ่จะทำการอวยพรและให้ซองอั่งเปา เพื่อเป็นของขวัญสำหรับคู่บ่าวสาว ซึ่งหลังจากนี้คู่บ่าวสาวสามารถให้ของขวัญตอบแทนการรับไหว้ได้
5.การส่งตัวเข้าเรือนหอ
ก่อนที่จะมีการส่งตัวเข้าหอ ทางผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายจะต้องจัดเตรียมและเป็นผู้ปูเตียงเอง โดยจะต้องเน้นของใช้ที่เป็นผ้าปูที่นอนสีแดง หมอนหนุนพร้อมปลอกสีแดง 2 ใบ ส้ม 4 ผล ถุงใส่เมล็ดพันธุ์ที่จะมีเมล็ดพันธุ์พืช 5 ชนิด และวางยอดของทับทิมไว้ด้านบนสุด มีแผ่นกระดาษอักษรจีนที่เป็นมงคลติดหน้าบ้านหรือติดอยู่หน้าซอง และช่วงบริเวณหัวเตียง มีอักษรซังฮี้ที่เป็นสีแดงตัวใหญ่ติดไว้บริเวณหัวเตียงกับโต๊ะกระจกเครื่องแป้ง
6.การเยี่ยมบ้านเจ้าสาว
หลังจากการจัดพิธีแต่งงานเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว คู่บ่าวสาวที่กลายเป็นสามีภรรยาอย่างสมบูรณ์แบบ จะต้องกลับไปเยี่ยมญาติของทางฝั่งบ้านเจ้าสาวหลังจบงาน 7-15 วัน ทางครอบครัวเจ้าสาวต้องมีการเตรียมส้ม 12 ผล ส่วนการมาเยี่ยมต้องให้ญาติที่เป็นผู้ชายของฝั่งเจ้าสาวรับทั้งคู่กลับมาที่บ้าน และจะต้องมีการจัดงานเลี้ยงเพื่อต้อนรับเจ้าบ่าว พร้อมการรับประทานอาหารร่วมกัน จากนั้นเจ้าสาวจะนำส้ม 12 ผลที่ทางครอบครัวเตรียมไว้กลับบ้านไปด้วย แล้วนำไปวางบนหัวเตียง โดยมีข้อควรระวังคือส้ม 12 ผลนี้ จะต้องเป็นเจ้าบ่าวกับเจ้าสาวเท่านั้นที่รับประทานได้ คนอื่นห้ามรับประทานเด็ดขาด ซึ่งพิธีนี้ถือว่าเป็นวิธีสุดท้าย
ถ้าคุณสนใจที่จะจัดงานแต่งสไตล์ Chinese ขอแนะนำลำดับพิธีแต่งงานทั้ง 6 ลำดับที่ได้แนะนำไว้ เพื่อให้คุณสามารถนำไปใช้ได้โดยตรง หรือนำไปประยุกต์ให้เข้ากับความสะดวก โดยหลักแล้วจะมีพิธีแต่ง พิธีหมั้น พิธียกน้ำชา พิธีส่งตัวเข้าหอที่ถือเป็นพิธีหลักสำคัญ แต่ถ้าต้องการพิธีแบบจีนโบราณอาจจะต้องลงลึกในรายละเอียด และทำตามขั้นตอนแบบเต็มพิธีมากกว่านี้ ซึ่งสามารถปรึกษาผู้ใหญ่ที่เป็นชาวจีนแท้ได้เลย