ประเภทชุดไทยจิตรลดาที่ใช้ในงานแต่งงาน
การสวมใส่ชุดไทยเป็นเอกลักษณ์และเสน่ห์อย่างหนึ่งของคนไทย ซึ่งนอกเหนือจากรูปแบบของชุดไทยจะมีความหลากหลายทั้งการออกแบบ การตัดเย็บ ชนิดและลวดลายของผ้าที่นำมาตัดเย็บ จึงถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญาของคนไทยตั้งแต่รุ่นอดีตสืบทอดมาจนถึงรุ่นปัจจุบัน
“ชุดไทย” ถือเป็นชุดประจำชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยการออกแบบและการตัดเย็บที่ประณีต อีกทั้งความสร้างสรรค์ลวดลายบนผ้าไทยที่เกิดจากงานฝีมือของช่างไทยที่มีความโดดเด่น ทำให้ชุดไทยเป็นงานศิลปะหนึ่งเดียวในโลกที่สร้างความแตกต่างและอัตลักษณ์เฉพาะตัว แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้โอกาสที่จะสวมใส่ชุดไทยอาจจะไม่พบเห็นได้บ่อยนัก โดยส่วนใหญ่ผู้หญิงผู้ชายมักจะได้ใส่ชุดไทยในวันสำคัญที่สุดของชีวิต ก็คือ “วันแต่งงาน” ในงานหมั้น งานฉลองมงคลในพิธีเช้า เพราะถือเป็นการทำพิธีการที่เสริมความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตสมรส
ชุดไทยจิตรลดา
ชุดไทยจิตรลดา ตั้งตามชื่อ “พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน” เป็นชุดแต่งกายประจำชาติของสุภาพสตรี ซึ่งนิยมสวมใส่ในงานพิธีหรืองานพระราชพิธีต่าง ๆ ในช่วงเวลากลางวัน อาทิเช่น งานพิธีหมั้น งานมงคลสมรส ลักษณะเป็นทางการกว่าชุดไทยเรือนต้น ซึ่งลักษณะเด่นของชุดไทยจิตรลดาจะเป็นชุดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ มีหลายรูปแบบ ทั้งลักษณะการตัดเย็บ และชนิดของผ้า เช่น ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าใยประดิษฐ์ ผ้าพื้น ผ้าลายดอก ผ้าลายริ้ว ผ้ายกดิ้นเงิน ผ้ายกดิ้นทอง เป็นต้น
ประเภทของชุดไทยจิตรลดา
1.ชุดไทยจิตรลดาโบราณ
มีลักษณะเสื้อเข้ารูปคอกลมและตั้งขึ้น มีสาปติดกระดุมด้านหน้า 5 เม็ด ความแขนยาวจรดข้อมือเข้าชุดกับผ้าซิ่นป้ายหน้า หรือ เป็นเสื้อแขนกระบอก นุ่งกับผ้าซิ่นทอลายขวาง โดยนิยมใช้ผ้าไหมเกลี้ยงมีเชิงหรือยกดอกทั้งตัว ตัดแบบเสื้อคนละชิ้นกับผ้าซิ่น โดยลักษณะเสื้อแขนยาว ผ่าหน้าอก คอกลม มีขอบตั้งเล็กน้อย ติดกระดุม ส่วนผ้าซิ่นยาวจรดข้อเท้า ป้ายด้านหน้า ตัดเย็บด้วยผ้าไหมเกลี้ยงมีเชิงหรือยกดอกทั้งตัว ผ้าซิ่นยาวป้ายหน้าคนละชิ้นกับตัวเสื้อ
เหมาะใช้ในงานที่สุภาพบุรุษแต่งกายเต็มยศ และสุภาพสตรีไม่ต้องประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์และไม่ต้องคาดเข็มขัด แต่ควรประดับด้วยสร้อยคอติดกระดุมทอง สร้อยข้อมือ และต่างหู
2.ชุดไทยจิตรลดาประยุกต์
เป็นการนำชุดไทยจิตรลดาโบราณมาประยุกต์ โดยผสมผสานความเป็นไทยแบบโบราณและความทันสมัยอย่างลงตัว เช่น การเลือกผ้าลูกไม้ที่มีลวดลายสวยงามมาผสมกับผ้าไหมหรือผ้าซิ่นที่สวยงามตามแบบชุดไทยจิตรลดาโบราณ หรือจะเลือกออกแบบชุดไทยจิตรลดาโบราณให้มีความยาวด้านหลังของชุดมีความยาวเหมือนกับชุดสากล ทั้งนี้ชุดไทยจิตรลดาประยุกต์จะมีแบบชุดโดยรวม ดัดแปลงจากการออกแบบและตัดเย็บของชุดไทยพระราชนิยม ทั้ง 8 แบบ (ชุดไทยเรือนต้น ชุดไทยจิตรลดา ชุดอมรินทร์ ชุดไทยบรมพิมาน ชุดไทยดุสิต ชุดไทยจักรี ชุดไทยศิวาลัย และชุดไทยจักรพรรดิ) เพื่อเติมเต็มความสวยงามในแต่ละแบบ รวมทั้งเพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาดและเพิ่มความพึงพอใจของแต่ละปัจเจกบุคคล ซึ่งอาศัยวิธีการผสมผสาน “คัสตอมไมซ์” (customized) ส่วนต่างๆของชุดไทยพระราชนิยมแบบต่าง ๆ เพื่อให้การสวมใส่ชุดไทยจิตรลดาประยุกต์ให้ดูทันสมัยและทำให้สวมใส่ได้ง่ายกว่าแบบเดิม โดยเสื้อตัวบนมีการปรับให้กลายเป็นเสื้อไหล่เดี่ยวพร้อมติดผ้าสไบบริเวณหัวไหล่ โดยตัวเสื้อจะแยกชิ้นกับผ้าซิ่น หรืออาศัยไอเดียสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มความแปลกใหม่ให้ชุดไทยจิตรลดาประยุกต์ให้ทันสมัยมากขึ้น แต่ยังคงความคลาสสิคของรูปแบบดั้งเดิมไว้ โดยนำผ้าไหมปักลวดลายต่าง ๆ เช่น ธงชัย ลายดอกจิก มาใช้ตัดเย็บ โดยออกแบบคอเสื้อให้กว้างขึ้นตามแบบฉบับนิยมของสุภาพสตรียุโรป เพิ่มระบายลูกไม้เป็นชั้นๆ รอบแขนเสื้อและเอวเสื้อเข้ารูปให้สวยงามขึ้น
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีแบบของชุดไทยจิตรลดาโบราณและชุดไทยจิตรลดาประยุกต์สำหรับใช้ในงานแต่งงานหลากหลายแบบ ซึ่งแต่ละแบบจะมีเอกลักษณ์ สีและลวดลายที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่แตกต่างกัน คือ ความวิจิตรสวยงามตระการตา ความละเอียดลออและความประณีตในการตัดเย็บ ทำให้ชุดไทยจิตรลดาเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับเจ้าบ่าวเจ้าสาวที่จะนำมาใช้ในงานแต่งงาน